วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

บทคัดย่อ : การใช้คำและภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากบทเพลงไทยลูกทุ่งของ พี สะเดิด




พลาธิป เกียรติวรรธนะ ๒๕๕๑ : การใช้ถ้อยคำและภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากบทเพลงไทยลูกทุ่งของ
พี สะเดิด
ปริญญาครุศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาภาษาไทย อาจารย์ที่ปรึกษา :
อาจารย์วงเดือน คัยนันทน์. ๗๐ หน้า

ปริญญานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ถ้อยคำและภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากบท
เพลงไทยลูกทุ่งของ พี สะเดิด ประกอบด้วยการใช้ถ้อยคำที่สื่ออารมณ์ การใช้คำภาษาถิ่น การใช้คำภาษาต่างประเทศ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ การใช้คำเลียนเสียงพูด การใช้คำย่อและ
คำตัด และการศึกษาเนื้อหาที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวชนบท

บทเพลงไทยลูกทุ่งของพี สะเดิด มีเนื้อสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในชนบท ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมของชาวชนบท การทำมาหากิน การดำรงชีวิต บางส่วนก็จะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและสังคมไทยในปัจจุบัน คือ ค่านิยมการศึกษา ความกตัญญูรู้คุณ ตลอดจนประเพณีต่างๆ

จากภาพรวมการศึกษาเรื่อง การใช้ถ้อยคำและภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากบทเพลงไทยลูกทุ่ง
ของ พี สะเดิด จะเห็นได้ว่าเพลงไทยลูกทุ่งของ พี สะเดิด ใช้ถ้อยคำที่สื่ออารมณ์ของมนุษย์ทุกด้านอย่างชัดเจน ทั้งอารมณ์โศกเศร้า เสียใจ อาลัยอาวรณ์ ประชดประชัน เสียดสี เมื่อไม่สมหวังในความรัก อารมณ์รักสดชื่นเมื่อมีรักเป็นกำลังใจ เนื่องจากเนื้อหาของเพลงนั้น ได้ถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ เป็นบทเพลงให้ผู้ฟังรู้สึกสะเทือนอารมณ์ตามเพลง และเกิดจินตภาพ ตามเนื้อหาของบทเพลง อีกทั้งเนื้อหาของเพลงสามารถสะท้อนลักษณะเด่น ที่สะท้อนความเป็นชนบท มีลักษณะที่เกี่ยวกับความรักและความผิดหวัง การรอคอยคนรัก สร้างสรรค์และสะท้อนสังคม




ขอขอบคุณพื้นที่บล็อก ปิยมิตรรสสุคนธ์ สุริวงค์ ที่ให้ใช้พื้นที่ในการเผยแพร่บทคัดย่องานวิจัย ขอบคุณครับ

เนื้อหาแนวคิดและโวหารภาพพจน์ที่ปรากฏในบทเพลงไทยลูกทุ่งของหนู มิเตอร์
















บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาแนวคิดและโวหารภาพพจน์ที่ปรากฏในบทเพลงไทยลูกทุ่งของหนู มิเตอร์ข้อมูลสำหรับการวิจัยเรื่องนี้คือ บทเพลงไทยลูกทุ่งของหนู มิเตอร์ ที่อยู่ในช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๑ โดยวิจัยเอกสารเนื้อเพลง จำนวน ๙๐ เพลง และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษามีดังนี้ เนื้อหาที่ปรากฏในบทเพลงไทยลูกทุ่งของหนู มิเตอร์ มี ๔ แบบ ได้แก่ ๑) เนื้อหาเกี่ยวกับความรัก มีจำนวนมากที่สุด จัดเป็นความรักแบบต่างๆคือ ความรักระหว่างพ่อแม่-ลูกได้แก่ เนื้อหาความรักระหว่างพ่อแม่-ลูก เนื้อหาความรักที่ลูกมีต่อพ่อแม่ ๒)ความรักระหว่างหนุ่มสาวได้แก่ เนื้อหาความรักที่เฝ้าคิดถึงรอคอยและการมีความหวัง เนื้อหาความรักที่เสียสละ จริงใจ เนื้อหาเกี่ยวกับการแอบหลงรักและการชื่นชม เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงในความรัก เนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่สมหวัง เนื้อหาความรักที่ไม่สมหวัง เนื้อหาที่แสดงความรักต่อครอบครัว และเนื้อหาความรักที่ให้กำลังใจ ตามลำดับ ๒) เนื้อหาเกี่ยวกับการให้กำลังใจ ได้แก่ การให้กำลังใจตนเอง และการให้กำลังใจผู้อื่นในการต่อสู้ชีวิต ๓) เนื้อหาที่เกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิต มีเนื้อเหาเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิตของคนในชนบทที่เข้ามาศึกษาหรือมาหางานทำในเมือง ๔) เนื้อหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชื่นชมธรรมชาติ แนวคิด พบว่ามีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความรัก แนวคิดที่เกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก แนวคิดเกี่ยวกับความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่ แนวคิดเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว แนวคิดเกี่ยวกับความรักที่ให้กำลังใจ แนวคิดเกี่ยวกับความรักที่มีต่อครอบครัว และการนำเสนอแนวคิดในด้านการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นการนำเสนอแนวคิดที่มีอยู่รอบตัว เช่น พ่อ แม่ คนรัก และการดำเนินชีวิตในสังคม การให้กำลังใจต่อตนเองและต่อผู้อื่นการใช้โวหารภาพจน์ พบว่า มีการโวหารเปรียบเทียบในหลายลักษณะ คือ อุปมา อุปลักษณ์ ปฏิปุจฉา บุคลาธิษฐาน อธิพจน์ และสัญลักษณ์ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของบทเพลง ทำให้เกิดภาพในใจ เกิดจินตนาการ เกิดอารมณ์ความรู้สึก และทำให้มีความเข้าใจในเนื้อหาของบทเพลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น